มูลนิธิแพทย์ชนบท
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  |  
 ตะกร้าสินค้า (0)  |  
 

นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ได้เขียนไว้ใน "จากสหพันธ์แพทย์ชนบท ถึงชมรมแพทย์ชนบทและมูลนิธิแพทย์ชนบท" เมื่อปี พ.ศ. 2530

มีข้อความตอนหนึ่งเล่าถึงต้นกำเนิดของมูลนิธิแพทย์ชนบทว่า

"........หลังจากตั้งชมรมแพทย์ชนบท มาได้ประมาณ 2 ปี พี่ ๆ ทั้งหลายที่ร่วมกันก่อตั้ง

ก็มีความคิดกันขึ้นมาว่าน่าจะมีองค์กรที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย

เพื่อรองรับงานต่าง ๆ ที่ชมรมกำลังทำอยู่ ประกอบกับมีการสนับสนุนทางความคิดและกำลังใจ

จากผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่าน อาทิเช่น

อจ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว , อจ.นพ.ไพโรจน์ นิงสานนท์ , อจ.นพ.ประเวศ วะสี และพี่ปรีชา ดีสวัสดิ์

จึงได้เกิดการเคลื่อนไหวที่จะตั้ง "มูลนิธิแพทย์ชนบท" ขึ้น

ในการประชุมสมาชิกชมรมแพทย์ชนบทภาคอีสาน

ที่เขื่อนลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เมื่อปลายปี พ.ศ. 2523

ก็มีการประชุมจัดตั้งมูลนิธิขึ้นด้วย ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับการจัดตั้งมูลนิธิแพทย์ชนบท

และพี่มานิตย์ ประพันธ์ศิลป์ ประธานชมรมแพทย์ชนบทในขณะนั้น

ก็รับที่จะเป็นผู้ประสานงานในการก่อตั้ง มูลนิธิแพทย์ชนบทขึ้น

ปัญหาสำคัญก็คือ การจัดหาทุนจดทะเบียนในระยะเริ่มแรกจำนวนอย่างน้อย 1 แสนบาท

ความดังกล่าว ทราบถึง ท่าน อจ.พญ.จินดาภา สายัณหวิกสิต

อดีตอาจารย์แพทย์ที่ศิริราชซึ่งมีความรัก ความเข้าใจในแพทย์ชนบทอย่างมาก

ท่านได้แสดงความจำนงที่จะบริจาคเงินจำนวน 1 แสนบาทเพื่อก่อตั้งมูลนิธิ

การประสานการจัดตั้งมูลนิธิจึงได้ดำเนินการต่อไป

จนกระทั่งสามารถจดทะเบียนตั้งมูลนิธิแพทย์ชนบทได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2525

โดยมี อจ.นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นประธานมูลนิธิ และพี่มานิตย์ ประพันธ์ศิลป์ เป็นเลขานุการ

หลังจากนั้นไม่ถึง 2 ปี

พี่มานิตย์ ประพันธ์ศิลป์ ตัวจักรสำคัญในการก่อตั้ง "สหพันธ์แพทย์ชนบท" "ชมรมแพทย์ชนบท"

และ "มูลนิธิแพทย์ชนบท" ก็โอนไปรับราชการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การดำเนินงานของมูลนิธิแพทย์ชนบทในระยะแรก ๆ ซึ่งเป็นระยะการก่อร่างสร้างตัว

ยังมีกิจกรรมไม่มากนักเนื่องจากขาดทั้งเงินทุนและกำลังคน

ในระยะแรกจึงเป็นไปในรูปการจัดหาทุนและสนับสนุนการจัดพิมพ์วารสาร และจุลสารของชมรมแพทย์ชนบท

รวมทั้งจัดตั้ง "กองทุน นพ.กนกศักดิ์ พูลเกษร"

เพื่อมอบรางวัลให้แก่แพทย์ที่ปฏิบัติงานในท้องถิ่นทุรกันดารและเสี่ยงภัย

งานในระยะต่อมา ได้ขยายกิจกรรมให้กว้างขึ้น โดยร่วมกับชมรมแพทย์ชนบท

จัดทำทำเนียบแพทย์โรงพยาบาลชุมชน

จัดหาทุนสนับสนุนโรงพยาบาลชุมชนในเขตทุรกันดารและเสี่ยงภัย

จัดหาทุนเพิ่มเติมโดยการจัดพิมพ์บัตร ส.ค.ส.

การติดต่อกับสมาคมแพทย์ไทยในสหรัฐอเมริกา

และจัดทำโครงการพัฒนาอนามัยแม่และเด็ก ร่วมกับชมรมแพทย์ชนบท และแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย

โดยการสนับสนุนของแพทยสมาคมแห่งสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการช่วยเหลือแพทย์ชนบทด้วย.............."


จากหลักฐานสำคัญคือ รายงานการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท ครั้งที่ 1/2525

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2525

ทำให้ทราบจุดกำเนิดของมูลนิธิแพทย์ชนบทที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้


".........ประธานได้แจ้งความเป็นมาของการก่อตั้งมูลนิธิว่า

กรรมการก่อตั้งได้ประชาสัมพันธ์เรื่องมูลนิธิทางโทรทัศน์ช่อง 9 เมื่อต้นปี 2524

หลังจากนั้นก็ได้รับบริจาคเงินเพียงพอที่จะจดทะเบียนเป็นมูลนิธิ

จึงได้ขออนุญาตจัดตั้งมูลนิธิจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

ได้รับใบอนุญาตเลขที่ ต. 228/2524 ออกให้ ณ วันที่ 2 กันยายน 2524

จากนั้นจึงได้จดทะเบียนจากระทรวงมหาดไทยเพื่อให้มีฐานเป็นนิติบุคคล

ซึ่งได้รับเลขทะเบียนจากกรุงเทพมหานคร ทะเบียนลำดับที่ 1719 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2525

มีคณะกรรมการเริ่มแรก 12 คน ............."


จึงถือได้ว่า วันเกิดที่แท้จริงของมูลนิธิแพทย์ชนบทคือ วันที่ 2 กันยายน 2524

ส่วนวันที่ 15 มีนาคม 2525 เป็นวันที่มูลนิธิแพทย์ชนบท ได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็น "นิติบุคคล" ตามกฎหมาย

มูลนิธิแพทย์ชนบทได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ในตราสาร 4 ข้อ ดังนี้คือ

1. เพื่อสนับสนุนการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในชนบท

2. เพื่อสนับสนุนการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขในชนบท

3. เพื่อสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขในชนบท

4. เพื่อส่งเสริมขวัญและกำลังใจของแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในชนบท


ใน ช่วง 1 ปีแรกของการจัดตั้งมูลนิธิขึ้น มีความพยายามที่จะจัดทำโครงการต่าง ๆ

เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ ได้แก่

โครงการสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลชุมชน โครงการเยี่ยมเยียนโดยแพทย์อาวุโส

โครงการสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวกับโรงพยาบาลชุมชนและโครงการแก้ปัญหาฉุกเฉินในโรงพยาบาลชุมชน เป็นต้น

แต่การดำเนินการจริงยังทำได้ไม่มากนัก เพราะมูลนิธิมีเงินทุนค่อนข้างน้อย ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว

ชมรมแพทย์ชนบทยังมีความคล่องตัวสูงในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามทิศทางเดียวกันนี้

มูลนิธิจึงยังไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก


สำหรับคณะกรรมการชุดก่อตั้ง 12 คน มี นพ.ปรีชา ดีสวัสดิ์ ทำหน้าที่เป็นเหรัญญิก

และ นพ.มานิตย์ ประพันธ์ศิลป์ เป็นเลขานุการ

โดยมี นายอรุณ บุญมาก ทำหน้าที่ช่วยงานเลขานุการและประสานงานเรื่องต่าง ๆ

ในนามของมูลนิธิแพทย์ชนบทอย่างต่อเนื่องหลายปีติดต่อกัน

โดยมี นางสาววารุณี เจนาคม เจ้าหน้าที่กองกลางเป็นผู้ช่วยอีกแรงหนึ่งมาโดยตลอด


ในปี 2537 มีการออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติม เป็นการภายในอีก 3 คน คือ

นพ.วิชัย โชควิวัฒน และ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เป็นกรรมการ

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

โดยตั้งให้ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นกรรมการเดิม

ทำหน้าที่เลขานุการแทน นพ.มานิตย์ ประพันธ์ศิลป์ ซึ่งโอนไปรับราชการที่ทบวงมหาวิทยาลัย


ในช่วงปี 2528 เป็นต้นมา งานเริ่มมีความเข้มข้นขึ้น มีการจัดตั้งกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร ขึ้น

เพื่อมอบรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติแก่แพทย์ชนบทที่ปฏิบัติงานด้วยความอดทน ตั้งใจ และเสียสละ

ในเขตเสี่ยงภัยและทุรกันดาร

ซึ่งโครงการนี้ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาจน ถึงปัจจุบัน


นอกจากนั้นก็มีการจัดหาเงินสมทบทุนมูลนิธิด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น

จัดทำทำเนียบแพทย์โรงพยาบาลชุมชนจำหน่าย

จัดทำเทปเพลงหมอบ้านนอกจำหน่าย และจัดพิมพ์ ส.ค.ส.จำหน่าย เป็นต้น


ในปี 2529 เริ่มีการอนุมัติทุนสนับสนุนการทำวิจัยเกี่ยวกับโรงพยาบาลชุมชน

มีการบริจาคเงินให้โรงพยาบาลจัดหาครุภัณฑ์และจัดทำโครงการริเริ่มต่าง ๆ

และผลักดันให้เกิดปาฐกถาพีร์ คำทอน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2529

ในปี 2530 - 2531 การดำเนินงานมีความเข้มข้นสูงสุด มีการตั้งกรรมการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น

ได้แก่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ (ซึ่งต่อมาทำหน้าที่เลขานุการต่อจาก นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ)

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ , พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร , นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ

และ นพ.ทรงกิจ อติวนิชยพงศ์ เป็นอาทิ

มีการขอรับบริจาคเงินจากแพทย์ไทยในสหรัฐอเมริกา ร่วมกับสมาคมแพทย์อเมริกา

จัดทำโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาการอยู่รอดของเด็กไทย

ร่วมปฐมนิเทศแพทย์จบใหม่ สนับสนุนทุนวิจัยช่วยเหลือเกื้อกูลแพทย์ชนบท เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลชุมชน

และครอบครัว ในกรณีประสบภัยต่าง ๆ

โครงการที่กล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง คือ

การเป็นองค์กรแกนกลางจัดวิ่งรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ทั่วประเทศเมื่อ เดือนตุลาคม 2530

เพื่อขอประชามติสนับสนุนโครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

กระตุ้นให้รัฐบาลเอาใจใส่และเข้ามาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

อีกโครงการหนึ่งที่ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาก็คือ โครงการเยี่ยมแพทย์โรงพยาบาลชุมชน

ใน แง่ของการบริหารงาน ได้มีการจัดทำ "แผนการดำเนินงานของมูลนิธิ ปี พ.ศ. 2530 - 2531" ขึ้นเป็นครั้งแรก

เพื่อให้การทำงานเป็นระบบและชัดเจนมากขึ้น ซึ่งผู้มีส่วนสำคัญในการจัดทำและผลักดันแผนฉบับนื้ คือ

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ และ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์

โดยมี นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ เข้าทำหน้าที่ช่วยดูแลงานของมูลนิธิมากขึ้นด้วย

มีผลทำให้มูลนิธิมีผลงานชัดเจนที่สุดในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา


ในช่วงต่อมา การดำเนินงานของมูลนิธิฯ ค่อนข้างเงียบเหงาและซาลงไปมาก

ทั้งนี้อาจด้วยเหตุผลปัจจัยหลายประการซึ่งเข้าได้กับหลักความจริงที่ว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีความความเปลี่ยนแปรไป ตามเหตุปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีสิ่งใดจะคงที่อยู่ได้ตลอดไป

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี พ.ศ. 2535 - 2536

ได้มี นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เข้ามาช่วยทำหน้าที่ดูแลกิจการบริหารทั่วไปของมูลนิธิฯ

ทำให้การดำเนินงานปกติต่าง ๆ เป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย


ในช่วงปี พ.ศ. 2537 - 2540 มูลนิธิฯ ยังคงมี ศ.นพ. เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นประธานกรรมการ

แต่ได้มอบหมายให้ นพ.ไพโรจน์ นิงสานนท์ รองประธานกรรมการ ทำหน้าที่แทนค่อนข้างจะเต็มตัว

มี นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เป็นเลขาธิการ นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ และ

นพ.สมชัย วิโรจน์แสงอรุณ เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ

โดยมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ทำหน้าที่เหรัญญิก

ในช่วงนี้มูลนิธิฯ ได้รับเงินอุดหนุนองค์กรเอกชนจากกระทรวงสาธารณสุข ค่อนข้างต่อเนื่อง

ทำให้มูลนิธิฯสามารถจัดทำโครงการ/กิจกรรมได้ค่อนข้างมาก

แต่ส่วนใหญ่เป็นโครงการ/กิจกรรมที่ไม่ใหญ่มากนัก

ในช่วงนี้มูลนิธิฯมีการจัดระบบบริหารงานที่เป็นระบบชัดเจนยิ่ง ขึ้น มีการจัดทำแผนงานประจำปี

มีการจัดระบบงานของสำนักงานมูลนิธิฯ

โดยมอบหมายให้ นางวงเดือน จินดาวัฒนะ ทำหน้าที่หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิ (แบบบางเวลา)

และจ้างเจ้าหน้าที่ประจำ 1 คน


Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 11,565 Today: 8 PageView/Month: 13

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...